วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

About Krabi








ไม่มีใครปฏิเสธการเดินทางไปเยือนจังหวัดกระบี่ เพราะที่นี่คือดินแดนแห่งขุนเขา หาดทราย ชายทะเล กลุ่มเกาะ น้ำตก และโถงถ้ำ ที่สวยงามติดอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ซึ่งสามารถเดินทางไปเยือนได้ตลอดทั้งปีไม่ใช่เพียงแค่ภูมิประเทศที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก ประวัติความเป็นมาอันยาวนานของกระบี่ รวมถึงอัธยาศัยไมตรีอันดีและวิถีชีวิตของคนกระบี่ที่ผูกพันอยู่กับการทำสวน ทำไร่ ก็เป็นอีกเสน่ห์ที่ทำให้กระบี่เป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางในวันพักผ่อนของนักท่องเที่ยวเสมอมา
จังหวัดกระบี่มีเนื้อที่ประมาณ 4,708 ตารางกิโลเมตร ถือว่าเป็นจังหวัดที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 46 ของประเทศ พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ที่ดอน ที่ราบ และหมู่เกาะน้อยใหญ่กว่า 130 เกาะ ริมปากอ่าวและรอบหมู่เกาะหลายเกาะคือป่าชายเลนอันอุดมสมบูรณ์ มีภูเขาพนมเบญจาเป็นภูเขาสูงที่สุดของกระบี่ (1,397 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง) และเป็นต้นกำเนิดของคลองปกาสัย คลองกระบี่ใหญ่ และคลองกระบี่น้อย สายน้ำสำคัญของจังหวัดจากหลักฐานทางโบราณคดีที่ขุดค้นพบในเขตจังหวัดกระบี่ โดยหลักฐานอายุเก่าแก่ที่สุดคือถ้ำหมอเขียว ที่มีอายุถึง 27,000-37,000 ปีนั้น ทำให้สันนิษฐานได้ว่า ที่นี่เคยเป็นแหล่งชุมชนโบราณก่อนประวัติศาสตร์ มีการขุดค้นพบเครื่องมือยุคหินจำนวนมาก โดยเฉพาะในเขตอำเภอคลองท่อม อีกทั้งยังพบภาพเขียนสีโบราณบนผนังถ้ำหลายแห่ง เช่น ถ้ำผีหัวโต เป็นต้นนอกเหนือจากการเป็นชุมชนเก่าแก่ กระบี่น่าจะเป็นศูนย์กลางการเดินทางข้ามคาบสมุทรมลายูจากฝั่งตะวันตกไปยังฝั่งตะวันออก และเป็นศูนย์กลางทางการค้าอีกด้วย โดยพบหลักฐานสำคัญคือลูกปัดโบราณจำนวนมากในเขตอำเภอคลองท่อมจนกระทั่งเข้าสู่ยุคประวัติศาสตร์ นักโบราณคดีสันนิษฐานว่า กระบี่คือเมืองบันไทยสมอ ซึ่งเป็น 1 ใน 12 เมืองนักษัตร ขึ้นอยู่กับอาณาจักรตามพรลิงค์ (นครศรีธรรมราช) โดยมีรูปลิงเป็นตราประจำเมือง และเป็นชุมชนซึ่งมีผู้คนอาศัยอยู่เรื่อยมาจนกระทั่งถึงสมัยรัตนโกสินทร์ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ เมื่อเมืองถลาง (หรือภูเก็ต) ถูกพม่าเผาทำลาย กระบี่จึงได้รับการพัฒนาให้เป็นเมืองท่าทดแทน ในยุคนี้มีการคล้องช้างป่าที่บ้านปกาไสยกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน ช่วงนี้เองที่มีผู้คนอพยพมาตั้งหลักแหล่งมากขึ้นจนกลายเป็นชุมชนใหญ่ และเจริญขึ้นเป็นแขวงเมือง ชื่อแขวงเมืองปกาไสย โดยต่อมาได้ย้ายเมืองมาอยู่ริมทะเล บริเวณปากแม่น้ำกระบี่ เพราะที่ตั้งเมืองเดิมอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดินนั้นไม่สะดวกต่อการค้าขายทางเรือกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2415 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ยกฐานะแขวงเมืองปกาไสยขึ้นเป็นเมือง และพระราชทานนามว่า “เมืองกระบี่” ขึ้นอยู่กับนครศรีธรรมราช จากนั้นจึงโอนไปขึ้นกับมณฑลภูเก็ตใน พ.ศ. 2439 จนถึง พ.ศ. 2444 ได้ย้ายเมืองมาอยู่ ณ ที่ตั้งของศาลากลางหลังปัจจุบัน และได้รับการยกฐานะเป็นจังหวัดใน พ.ศ. 2476 ตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวจังหวัดกระบี่แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 8 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองกระบี่ อำเภออ่าวลึก อำเภอปลายพระยา อำเภอเขาพนม อำเภอคลองท่อม อำเภอลำทับ อำเภอเกาะลันตา และอำเภอเหนือคลอง















วันพุธที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2553

เกาะห้อง


อ. เมือง จ. พังงา


ข้อมูลทั่วไป - เกาะห้อง - เกาะห้อง


ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา มีลักษณะเป็นเขาหินปูน มีหินงอกหินย้อยที่มีความสวยงาม คล้ายห้องหลายๆ ห้อง เรียงต่อกันเป็นแถว มีพันธุ์พืชและสัตว์ป่าชนิดต่างๆ จำนวนมาก สามารถเข้าไปชมทัศนียภาพได้ โดยการจอดเรือบริเวณหน้าเกาะและใช้เรือซีแคนูเข้าไปชมบริเวณภายในถ้ำ และรอบๆเกาะซึ่งมีความสวยงามที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะ


กิจกรรม - ชมทิวทัศน์ - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา - พายเรือแคนู/คยัค - ล่องแพ/ล่องเรือ


ถ้ำผีหัวโต


อ. อ่าวลึก จ. กระบี่


ข้อมูลทั่วไป - ถ้ำผีหัวโต - ถ้ำผีหัวโต


ตั้งอยู่ในเขต อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี ถ้ำผีหัวโต เป็นถ้ำในภูเขาที่มีห้วงน้ำล้อมรอบ ภายในถ้ำแบ่งได้เป็น 2 คูหาขนาดใหญ่ มีภาพเขียนศิลปะดั้งเดิม เขียนด้วยสีแดง ดำ เหลือง น้ำตาล น้ำตาลเหลือง น้ำตาลแดงหรือน้ำตาลเข้ม สามารถแบ่งภาพเขียนตามบริเวณที่พบได้ 23 กลุ่ม จำนวน 238 ภาพ สภาพของถ้ำโปร่ง อากาศถ่ายเทได้สะดวก แสงสว่างส่องเข้าไปถึงสามารถชมภาพเขียนได้ชัดเจน ภายในถ้ำยังมีเปลือกหอยแครงจำนวนมากทับถมกันอยู่จนกลายเป็นหิน


นอกจากจะพบภาพเขียนศิลปะดั้งเดิมที่ถ้ำผีหัวโต ยังสามารถพบภาพเขียนได้ที่แหลมไฟไหม้ แหลมถ้ำเจ้ารี และแหลมท้ายแรด ซึ่งแต่ละแห่งก็มีความสวยงามตามธรรมชาติแตกต่างกันไปด้วย


กิจกรรม - ชมวัฒนธรรมประเพณี - เที่ยวถ้ำ/ธรณีวิทยา - พายเรือแคนู/คยัค - ชมทิวทัศน์ - ชมพรรณไม้


วันอังคารที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2553

อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี




อ. อ่าวลึก จ. กระบี่






ข้อมูลทั่วไป - ธารโบกขรณี - อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี


ภาพเขียนโบราณ ลำธารมรกต






อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี ครอบคลุมพื้นที่ 65,000 ไร่ หรือ 104 ตารางกิโลเมตร ในท้องที่อำเภออ่าวลึก และ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ มีสภาพภูมิประเทศเป็นป่าดงดิบที่มีธารน้ำไหลลอดภูเขา เหมาะสำหรับการพักผ่อน เล่นน้ำ พบแหล่งศิลปะ ถ้ำจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นภาพเขียนสีโบราณที่สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อใช้ในพิธีกรรม


ธารโบกขรณี เดิมชื่อ "ธารอโศก" ตั้งอยู่ในท้องที่หมู่ที่ 2 ตำบลอ่าวลึกใต้ อำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ มีเนื้อที่ 37.5 ไร่ เป็นป่าดงดิบอยู่ในระหว่างหุบเขา เป็นถิ่นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า มีธารน้ำไหลลอดภูเขาผ่านบริเวณนี้แล้วไหลลงสู่ทะเลที่ตำบลแหลมสัก ต้นน้ำเกิดจากเขาถ้ำน้ำผุด เขาถ้ำเพชร ในท้องที่ตำบลอ่าวลึกเหนือ อำเภออ่าวลึก อยู่ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ 4 กิโลเมตร แล้วไหลมาตามลำคลอง เรียกว่า "คลองอ่าวลึก" ในปี พ.ศ. 2496 นายวิเวก จันทโรจน์วงค์ ข้าหลวงประจำจังหวัดกระบี่ ได้แวะมาเยี่ยมชมธารอโศกแล้วเห็นว่า สถานที่นี้มีความสวยงามควรที่จะได้สงวนไว้เป็นพื้นที่ของทางราชการ เพื่อจะได้ใช้เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชน ไม่ให้ราษฎรเข้าบุกรุกถือครอง จึงได้สงวนไว้เป็นของทางราชการตั้งแต่นั้นมา ในปลายปี 2496 พลโท บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้มาตรวจราชการที่อำเภออ่าวลึก ได้แวะพักที่ธารอโศกและพอใจในทิวทัศน์แห่งนี้มาก เห็นว่าชื่อที่เคยเรียกไว้เดิมยังไม่เหมาะสมจึงตั้งชื่อใหม่ว่า "ธารโบกขรณี"


ครั้นต่อมาปี พ.ศ. 2498 ผู้ว่าราชการจังหวัดกระบี่ได้เสนอกรมป่าไม้ขอให้จัดตั้งธารโบกขรณีเป็นสวนรุกขชาติ ซึ่งกรมป่าไม้ได้รับในหลักการและดำเนินการตั้งแต่นั้นมา โดยอยู่ในความดูแลของกองบำรุง และเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2502 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จโดยรถยนต์พระที่นั่งจากจังหวัดพังงามาทรงประทับ ณ สวนรุกขชาติธารโบกขรณี ทั้งสองพระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธยที่หินปากถ้ำน้ำลอดด้านขวามือ และได้ทรงปลูกต้นศรีตรังไว้ในสวนรุกขชาติแห่งนี้ด้วย


จังหวัดกระบี่ ได้มีหนังสือที่ กษ 0009/11446 ลงวันที่ 22 สิงหาคม 2527 ส่งรายงานการสำรวจเบื้องต้นของ นายประพันธ์ อินทรมณี ผู้ช่วยป่าไม้จังหวัดกระบี่ และนายสมจิตร สภาวรัตนภิญโญ นักวิชาการป่าไม้ 4 และหนังสืออำเภออ่าวลึก ที่ได้ตรวจสอบเกี่ยวกับปัญหาในการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติแห่งนี้ โดยได้เสนอความเห็นว่า สวนรุกขชาติธารโบกขรณีประกอบด้วยทิวทัศน์สวยงามในบริเวณพื้นที่ป่าและภูเขาใกล้เคียงกับสวนรุกขชาติ ยังมีความสวยงามตามธรรมชาติหลายแห่ง มีสภาพป่าอุดมสมบูรณ์ เป็นป่าแหล่งต้นน้ำลำธาร เห็นสมควรอนุรักษ์ธรรมชาติไว้ให้เป็นอุทยานแห่งชาติ


กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้มีคำสั่งที่ 1516/2527 ลงวันที่ 8 ตุลาคม 2527 ให้ นายสมจิตร สภาวรัตนภิญโญ นักวิชาการป่าไม้ 4 ไปดำเนินการสำรวจหาข้อมูลเพิ่มเติม ผลการสำรวจรายงานตามหนังสือลงวันที่ 5 ธันวาคม 2527 ว่า พื้นที่ดังกล่าวมีจุดเด่นและธรรมชาติที่สวยงามหลายแห่ง การคมนาคมสะดวก เหมาะที่จะจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้จึงได้มีคำสั่งที่ 336/2528 ลงวันที่ 1 มีนาคม 2528 ให้ดำเนินการจัดตั้งพื้นที่สวนรุกขชาติธารโบกขรณีและพื้นที่ป่าบริเวณใกล้เคียงในท้องที่จังหวัดกระบี่เป็นอุทยานแห่งชาติโดยใช้ชื่อว่า "อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี" ซึ่งอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณีได้ทำการสำรวจพื้นที่ป่าเพิ่มเติม โดยมีหนังสือที่ กษ 0713(ธน)/51 ลงวันที่ 10 กันยายน 2529 และที่ กษ 0713(ธน)/15 ลงวันที่ 2 มิถุนายน 2530 เห็นสมควรกำหนดพื้นที่ป่าบริเวณใกล้เคียงที่มีความสำคัญต่อการท่องเที่ยว และสมควรที่จะอนุรักษ์เป็นสมบัติของชาติตลอดไป ผนวกเข้าเป็นอุทยานแห่งชาติด้วย


กองอุทยานแห่งชาติ กรมป่าไม้ ได้นำเสนอคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติซึ่งมีมติในการประชุมครั้งที่ 1/2531 เมื่อวันที่ 22 มีนาคม 2531 เห็นชอบในหลักการที่จะให้กำหนดพื้นที่ธารโบกขรณีและพื้นที่ใกล้เคียงเป็นอุทยานแห่งชาติ และอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณีได้มีหนังสือที่ กษ 0718(ธน)/27 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2531 เสนอให้ผนวกพื้นที่หมู่เกาะเหลาบิเละ (เกาะห้อง) เข้ากับพื้นที่อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณีด้วย


อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี ถูกประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติ ตามพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 โดยพระราชกฤษฎีกากำหนดที่ดินบริเวณพื้นที่ป่าปากลาวและป่าคลองบากัน ป่าคลองกาโหรด และป่าคลองหิน พื้นที่ป่าบริเวณใกล้เคียง และบริเวณหมู่เกาะเหลาบิเละ ในท้องที่ตำบลอ่าวลึกใต้ ตำบลอ่าวลึกเหนือ ตำบลแหลมสัก ตำบลอ่าวลึกน้อย อำเภออ่าวลึก และตำบลเขาทอง อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ ครอบคลุมพื้นที่ 104 ตารางกิโลเมตร ซึ่งได้ประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 115 ตอนที่ 67 ก ลงวันที่ 30 กันยายน 2541 นับเป็นอุทยานแห่งชาติลำดับที่ 86 ของประเทศ






























การเดินทางสู่ อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี










เต็มจอธารโบกขรณีข้อมูลแผนที่ ©2010 Tele Atlas, AND, MapIT, Europa Technologies - ข้อกำหนดในการให้บริการแผนที่ดาวเทียม


แสดงป้ายกำกับภูมิประเทศ100 ไมล์200 กม.






คลิกที่แผนที่เพื่อดูแผนที่ขนาดใหญ่ของ อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี






จากกระบี่ ไปตามทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 4 (ถนนเพชรเกษม) ไปอำเภออ่าวลึก จังหวัดกระบี่ ถึงสี่แยกอ่าวลึก แล้วเข้าสู่ทางหลวงจังหวัดหมายเลข 4039 เป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร ก็จะถึงที่ทำการอุทยานแห่งชาติ รวมระยะทางจากตัวเมืองกระบี่ ประมาณ 48 กิโลเมตร